4.12.2552

เนื้อหาของ : ภควัท คีตา ( ฉบับเดิม )




     หนังสือ บะกะวัด  กีทา (ภควัทคีตา) ได้รับความนิยมจากการพิมพ์ และการอ่านอย่างแพร่หลาย แรกเริ่มเดิมทีจะเป็นตอนหนึ่งของมะฮาบาระทะ ( มหาภารตะ )ซึ่งเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ภาษาสันสกฤตของโลกในอดีต มะฮาบาระทะ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งนำเรามาสู่ยุคปัจจุบัน คือ คะลิ ยุคะ (กลียุค) ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นของยุคปัจจุบันนี้ เหตุการณ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณห้าพันปีก่อนหน้านี้ โดยพระคริชณะ (พระกฤษณะ) ตรัสบะกะวัด กีทา ให้แก่ อารจุนะ ( 
อรชุน)ซึ่งเป็นพระสหายและพระสาวกของพระองค์
     การสนทนาครั้งนี้เป็นการสนทนาปรัชญาและธรรมะอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จักมา ปรากฏขึ้้นก่อนจะเกิดสงครามข้อบาดหมางอย่างรุนแรงในราชวงศ์กษัตริย์ ระหว่างโอรสหนึ่งร้อยพระองค์ของดริทะราชทระ และฝ่ายพาณดะวะ พระโอรสของพาณดุ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน
     ดริทะราชทระและพาณดุเป็นพี่น้องกัน ประสูติในราชวงศ์คุรุ สืบเชื้อสายมาจากพระราชาบาระทะ ซึ่งเป็นผู้ปกครองโลกในอดีต ชื่อ มะฮาบาระทะ มาจากพระราชาองค์นี้ เนื่องจากดริทะราชทระทรงเป็นพระเชษฐาประสูติมามีพระเนตรพิการ บัลลังก์ซึ่งควรจะเป็นของพระองค์จึงตกมาเป็นของพระอนุชาพาณดุ
     เมื่อพาณดุสววรคตในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ โอรสห้าพระองค์ ยุดิชทิระ บีมะ อารจุนะ นะคุละ และสะฮะเดวะ ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ ดริทะราชทระ ผู้ขึ้นครองราชแทนพาณดุ ดังนั้นพระโอรสของ ดริทะราชทระ และพระโอรสของพาณดุทรงเจริญเติบโตในพระราชวังเดียวกัน ทั้งสองตระกูลได้รับการฝึกฝนศิลปการทำศึกสงครามจากพระอาจารย์ผู้ชำนาญ โดรณะ และบีชมะ พระอัยกาผู้ควรแก่การเคารพนับถือ และเป็นผู้ให้คำปรึกษา
     แต่ว่าพระโอรสของ ดริทะราชทระ โดยเฉพาะดุรโยดะนะองค์โตที่สุด จงเกลียดจงชังและอิจฉาพาณดะวะ พระราชาดริทะราชทระผู้มีพระเนตรบอดสนิทซำ้จิตใจเลวร้ายประสงค์ให้โอรสของตนเองขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อไป และไม่พึงประสงค์ให้พาณดะวะได้ขึ้นครองราชย์
     ดังนั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากดริทะราชทระ ดุรโยดะนะจึงวางแผนสังหารโอรสทั้งหมดของพาณดุ แต่เสด็จอาวิดุระและพระคริชณะให้ความคุ้มครองพาณดะวะอย่างระมัดระวัง องค์คริชณะทรงเป็นพระญาติของพาณดะวะ ดังนั้น พาณดะวะจึงสามารถหลบหลีกการลอบปลงพระชนม์ได้หลายครั้ง
     พระคริชณะทรงเป็นพระเจ้าสูงสุดที่แสดงบทบาทเป็นเจ้าชายในราชวงศ์สมัยเดียวกันนี้้ ในบทบาทนี้พระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระแม่นางคุนที หรือพระแม่นางพริทา พระมเหสีของพาณดุผู้เป็นมารดาขแงพาณดะวะ ดังนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นญาติกัน และทรงเป้นผู้ทะนุบำรุงศาสนาเสมอมา พระคริชณะ ทรงโปรดโอรสของพาณดุผู้ทรงคุณธรรม พระองค์จึงคุ้มครองพาณดะวะ
     ในที่สุด ดุรโยดะนะผู้ฉลาดแกมโกงได้ท้าทายพาณดะวะเล่นเกมส์การพนัน ดุรโยดะนะและพระอนุชา ได้รับชัยชนะ พระนางโดรพะดี พระชายาผู้บริสุทธิ์และจงรักภักดีของพาณดะวะได้ตกเป็นเหยื่อจากเกมส์การพนันในครั้งนี้ โดยการดูถูกและพยายามจับเธอเปลื้องผ้าต่อหน้าที่ชุมนุมของโอรสและกษัตริย์ทั้งหลาย พลังอำนาจของพระคริชณะทรงช่วยเธอไว้ แต่การพนันที่มีการวางแผนฉ้อโกงไว้ล่วงหน้าได้โกงเอาราชณาจักรของพาณดะวะ และเนรเทศโอรสของพาณดะวะทั้งห้าไปอยู่ในป่าเป็นเวลาสิบสามปี 
     หลังจากพ้นกำหนดการเนรเทศ พาณดะวะ ทรงขอราชอาณาจักรซึ่งเป็นสิทธิของพวกตนที่ควรจะได้ แต่ดุรโยดะนะปฏิเสธอย่างไม่ใยดี ในฐานะที่เป็นโอรสกษัตริย์จึงมีหน้าที่จะต้องรับใช้ด้วยการปกครองบ้านเมือง พาณดะวะทั้งห้าพระองค์จึงขอเพียงห้าหมู่บ้านมาปกครอง แต่ดุรโยดะนะปฏิเสธอย่างยะโสโอหังว่าจะไม่ให้แม้แต่ที่ดินพอที่จะเอาไปปักเข็ม
     ทั้งหมดนี้ พาณดะวะพยายามอดทนและอดกลั้นเสมอมา แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าสงครามจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
     อย่างไรก็ดี ขณะที่เจ้าชายต่างๆในโลกแบ่งพวกกัน บ้างก็ไปร่วมกับโอรสของดริทะราชทระ บ้างก็ไปร่วมกับพาณดะวะ พระคริชณะทรงแสดงบทบาทเป็นผู้ส่งสารให้โอรสของพาณดุ พระคริชณะเสด็จไปที่ศาลสถิตยุติธรรมของดริทะราชทระเพื่อขอร้องให้สงบศึก แต่เมื่อคำขอร้องถูกปฏิเสธ สงครามจึงต้องเกิดขึ้น
     พาณดะวะผู้มีคุณธรรมอันสูงส่ง ทรงทราบดีว่าพระคริชณะคือบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ขณะที่ผู้มีบาปหนาเยี่ยงเหล่าโอรสของดริทะราชทระไม่เชื่อเช่นนั้น ถึงกระนั้น พระคริชณะทรงเสนอที่จะร่วมรบด้วย ตามที่ผู้ไม่มีความศรัทธาปราถนา ในฐานะที่คริชณะทรงเป็นพระเจ้า พระองค์จะไม่รบด้วยพระองค์เอง หากฝ่ายใดปราถนาจะได้กองทัพของพระองค์ไปอีกฝ่ายก้จะได้องค์คริชณะมาเป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วย ดุรโยดะนะทรงเป็นอัจฉริยะทางการเมือง จึงเลือกเอากองทัพของพระคริชณะ ขณะที่พาณดะวะยินดีที่จะได้องค์คริชณะมาอยู่ฝ่ายตน
     ด้วยเหตุนี้ พระคริชณะจึงทรงมาเป็นสารถีของอารจุนะ และทรงรับเอาราชรถขุนศึกมาขับ นี่คือจุดกำเนิดของ บะกะวัด กีทา ขณะที่กองทัพของทั้งสองฝ่ายเรียงรายกันเป็นทิวแถวพร้อมที่จะรบ และดริทะราชทระตรัสถามสันจะยะ เลขาของพระองค์ อย่างสนพระทัยว่า "พวกเขากำลังทำอะไรกัน ?"

  โครงเรื่องได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว ในที่นี้จะกล่าวถึงการแปลและการอธิบายโดยย่อ

    โครงสร้างของผุ้แปลบะกะวัด กีทา ที่เป็นภาษาอังกฤษ และโดยทั่วไป (รวมถึงภาษาไทย) จะขจัดเอาพระคริชณะไปอยู่ข้างๆ เพื่อที่ผู้แปลเองจะได้เสนอแนวความคิดและแนวปรัชญาว่า ประวัติศาสตร์มะฮาบาระทะ เป็นเพียงนวนิยายประหลาดโบราณ และองค์คริชณะเป็นเพียงเครื่องมือทางกวีเพื่อเสนอความคิดของอัจฉริยะที่ไม่ประสงค์จะออกนาม หรืออย่างดีที่สุด พระคริชณะ ก็เป็นเพียงตัวประกอบทางประวัติศาสตร์
   แต่สำหรับ บะกะวัด กีทา ฉบับดั้งเดิมนั้น คริชณะ ทรงเป็นทั้งจุดมุ่งหมายและแก่นสารที่สำคัญของ บะกะวัด กีทา ดังที่ กีทา ได้กล่าวไว้ในตัวเอง ดังนั้น ในการแปลและการอธิบายบะกะวัด กีทา ในบทความทั้งหมดของบล็อกนี้ จะนำผู้อ่านมุ่งตรงไปสู่องค์คริชณะ แทนที่จะนำเราออกห่างจากพระองค์ ซึ่งบะกะวัด กีทา ฉบับเดิมนี้ มีเอกลักษณ์ของตนเอง และเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ บะกะวัด กีทา ตลอดทั้งเล่ม มีความคงเส้นคงวา และเป็นที่เข้าใจเชื่อถือได้ และพระคริชณะทรงเป็นผู้ตรัส บะกะวัด กีทา ด้วยตัวพระองค์เอง และทรงเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของบะกะวัด กีทา ตามที่ควรจะเป็น เพื่อการนำเสนอคำแปลศาสตร์ของพระคัมภีร์อันยิ่งใหญ่โบราณตามความเป็นจริง

เพิ่มเติม
***  บะกะวัด กีทา เป็นสิ่งที่คริชณะกล่าวไว้ในสงครามที่ทุ่งคุรุคเชทระ ด้วยเวลา 45 นาที แต่เราอ่าน บะกะวัด กีทา ทั้งชีวิต ก็ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของหนังสือได้ทั้งหมด

โดยสมาคมนานาชาติเพื่อคริชณะจิตสำนึก ( ISKCON BANGKOK )   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นได้ที่นี่